การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ |
|
การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เป็น การทดสอบความรู้ ความสามารถ และทัศนคติในการทำงานของผู้ประกอบอาชีพตามเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ผู้ทดสอบผ่านจะได้รับหนังสือรับรองว่าเป็นผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติระบุ ชื่อ นามสกุล สาขาและระดับที่ผ่านการทดสอบเป็นหลักฐานยืนยันในทักษะ ฝีมือของตน
เกณฑ์การพิจารณาประเมินผลการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ จะคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
– ความรู้พื้นฐานในการปฏิบัติงาน
– ความปลอดภัยในการทำงาน
– ขั้นตอนวิธีการทำงานที่เหมาะสม
– การใช้และบำรุงรักษาเครื่องมืออุปกรณ์ที่ถูกต้อง
– การเลือกและใช้วัสดุอย่างประหยัด
– เวลาที่ใช้ในการปฏิบัติงานมีความเหมาะสม
– ผลงานสำเร็จ เป็นที่ยอมรับ
|
|
หน่วยทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ |
|
ผู้ที่สนใจเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เพื่อประเมินความรู้ ความสามารถ และทัศนคติในการทำงานของตน สามารถขอรับการทดสอบฯ ได้ที่หน่วยงานในสังกัดกรมพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่นๆ ที่ได้รับอนุญาตจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจัดตั้งเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน โดยมีอัตราเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าทดสอบ ดังนี้
1. หน่วยงานภายใต้สังกัดกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการทดสอบในอัตรา ดังนี้
ระดับ 1 จำนวน 100 บาท
ระดับ 2 จำนวน 150 บาท
ระดับ 3 จำนวน 200 บาท
2. หน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่นที่ได้รับอนุญาตเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สามารถเรียกเก็บค่าทดสอบฝีมือ ในอัตรา 500 – 2,000 บาท ในแต่ละสาขาอาชีพ และแต่ละระดับ ตามประกาศของคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน
|
|
ลักษณะการทดสอบ |
|
การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ จะแบ่งการทดสอบออกเป็น 2 ภาค คือ
1. ภาคความรู้ เป็นการทดสอบความรู้พื้นฐานในการปฏิบัติงานที่จำเป็น ลักษณะของข้อทดสอบ จะเป็นปรนัย 4 ตัวเลือก จำนวนข้อทดสอบประมาณ 50 – 100 ข้อ ใช้เวลาประมาณ 1- 1.30 ชั่วโมง คะแนนคิดเป็นร้อยละ 20 – 30 ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบในแต่ละสาขาอาชีพ และแต่ละระดับ
2. ภาคความสามารถ เป็นการทดสอบทักษะ ความชำนาญงาน รวมถึงทัศนคติในการทำงานที่ดี ลักษณะของข้อทดสอบจะเป็นการทดสอบการปฏิบัติงานจริงตามแบบและเวลาที่กำหนด ใช้เวลาประมาณ 3 – 6 ชั่วโมง คะแนนคิดเป็นร้อยละ 70 – 80 ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบในแต่ละสาขาอาชีพ และแต่ละระดับ
|
|
เกณฑ์การทดสอบผ่าน |
|
ผู้เข้ารับการทดสอบจะต้องเข้ารับการทดสอบทั้งสองภาค โดยแต่ละภาคจะต้องผ่านเกณฑ์ที่กำหนดของแต่ละภาค และเมื่อรวมคะแนนทั้งสองภาคแล้วจะต้องมีคะแนนไม่น้อยกว่าคะแนนที่กำหนดไว้หลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบในแต่ละสาขาอาชีพ และแต่ละระดับ ซึ่งโดยปกติจะอยู่ที่ร้อยละ 70
|
|
คุณสมบัติผู้เข้ารับการทดสอบ |
|
1. อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์นับถึงวันสมัครเข้ารับการทดสอบ และ
2. มีประสบการณ์การทำงานหรือประกอบอาชีพเกี่ยวกับสาขาที่จะทดสอบ หรือ
3. ผ่านการฝึกฝีมือแรงงานหรือฝึกอาชีพ และมีประสบการณ์จากการฝึกหรือปฏิบัติงานในกิจการในสาขาที่เกี่ยวช้อง หรือ
4. เป็นผู้ที่จบการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพในสาขาที่เกี่ยวข้อง
5. กรณีต้องการทดสอบในระดับที่สูงขึ้น จะต้องมีประสบการณ์การทำงาน หรือประกอบอาชีพ หรือได้คะแนนรวมในสาขาอาชีพและระดับที่เคยทดสอบผ่านมาแล้ว ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานประกาศกำหนด
|
|
หลักฐานการสมัครเข้ารับการทดสอบ |
|
1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือ สำเนาทะเบียนบ้าน หรือบัตรอื่นๆ ที่ทางราชการออกให้
2. รูปถ่ายหน้าตรง ไม่สวมหมวก ไม่สวมแว่นตาดำ ขนาด 1 นิ้ว จำนวน 2 รูป
3. หนังสือรับรองประสบการณ์การทำงานหรือการประกอบอาชีพ หรือสำเนาวุฒิการศึกษา
4. สำเนาหนังสือรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ (กรณีทดสอบฯ ระดับสูงขึ้น)
5. ค่าธรรมเนียม/ค่าทดสอบ
กรณีทดสอบกับหน่วยงานสังกัดกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
– ระดับ 1 จำนวน 100 บาท
– ระดับ 2 จำนวน 150 บาท
– ระดับ 3 จำนวน 200 บาท
กรณีทดสอบกับศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ที่ได้รับอนุญาตจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในอัตรา 500 – 2,000 บาท ในแต่ละสาขาอาชีพ และแต่ละระดับ ตามประกาศของคณะ กรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน โทร. 0-2245-1707 ต่อ 316, 0-2247-6606 โทรสาร 0-2643-4990 หรือ http://www.dsd.go.th/
|