ความหมายของสหภาพแรงงาน สหภาพแรงงาน เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายอันจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งนายจ้างและลูกจ้าง หากลูกจ้างมีความเข้าใจถึงหลักการและวัตถุประสงค์ ซึ่งจะต้องดำเนินการควบคู่กันไป ในขณะที่นายจ้างต้องเข้าใจในระบบทวิภาคียอมรับและเปิดโอกาสให้ลูกจ้างได้เข้ามามีส่วนร่วมคิดในการป้องกันและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นเพื่อสร้างสรรค์ความสัมพันธ์อันดีอันจะนำไปสู่ความเข้าใจและการร่วมแรงร่วมใจเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันในที่สุด สหภาพแรงงานเป็นองค์กรของลูกจ้างที่รวมตัวกันจัดตั้งขึ้น เพื่อวัตถุประสงค์ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ดังนี้
1. แสวงหาและคุ้มครองผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้าง เช่น เงื่อนไขการจ้างหรือการทำงาน กำหนดวันและเวลา ทำงาน ต่างจ้าง สวัสดิการ การเลิกจ้าง หรือประโยชน์อื่นของนายจ้างหรือลูกจ้างอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงาน
2. ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง
3. ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างลูกจ้างด้วยกัน สหภาพแรงงานต้องมีข้อบังคับ กรรมการบริหารสหภาพและต้องจดทะเบียนต่อนายทะเบียน เมื่อได้รับการจดทะเบียนแล้วมีฐานะเป็นนิติบุคคล
ประเภทของสหภาพแรงงาน แบ่งเป็น 2 ประเภท
1. สหภาพแรงงานนายจ้างคนเดียวกัน ( House Union or Company Union ) จะขอจดทะเบียนได้ซึ่งผู้เริ่มก่อการทุกคนต้องเป็นลูกจ้างของนายจ้างคนเดียวกัน
2. สหภาพแรงงานประเภทกิจการเดียวกัน ( Industrial Union ) ซึ่งผู้เริ่มก่อการต้องเป็นลูกจ้างของนายจ้างที่ประกอบกิจการประเภทเดียวกันโดยไม่คำนึงว่าจะมีนายจ้างกี่คน
ระดับของสหภาพแรงงาน แบ่งเป็น 2 ระดับ
1. สหภาพแรงงานระดับผู้บังคับบัญชา ( มีอำนาจตามมาตรา 95 วรรคสาม )
2. สหภาพแรงงานระดับพนักงาน ( ไม่มีอำนาจตามมาตรา 95 วรรคสาม )
อำนาจหน้าที่ของสหภาพแรงงาน
1. เรียกร้อง เจรจา ทำความตกลง และรับทราบคำชี้ขาดหรือทำข้อตกลงกับนายจ้างหรือสมาคมนายจ้างในกิจการของสมาชิกได้
2. จัดการและดำเนินการเพื่อให้สมาชิกได้รับประโยชน์ทั้งนี้ ภายใต้ข้อบังคับของวัตถุประสงค์ของสหภาพแรงงาน
3. จัดให้มีการบริการสนเทศเพื่อให้สมาชิกมาติดต่อเกี่ยวกับการจัดหางาน
4. จัดให้มีบริการการให้คำปรึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาหรือขจัดข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการบริหารงานการทำงาน
5. จัดให้มีการบริการเกี่ยวกับการจัดสรรเงินหรือ ทรัพย์สิน เพื่อสวัสดิการของสมาชิก หรือเพื่อสาธารณประโยชน์ทั้งนี้ตามที่ที่ประชุมใหญ่เห็นสมควร
6. เรียกเก็บเงินค่าสมัครเป็นสมาชิกและเงินค่าบำรุงตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับของสหภาพแรงงาน
บทบาทของสหภาพแรงงานต่อสมาชิก
1. เป็นตัวแทน เจรจา ทำความตกลง รับทราบคำชี้ขาดและดำเนินการใด ๆ เพื่อให้สมาชิกได้รับประโยชน์
2. เป็นผู้แทนที่ดี มีความซื่อสัตย์ต่อสมาชิก
3. ให้สมาชิกได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของสหภาพแรงงานและให้คำแนะนำแก่สมาชิกในแนวทางที่ถูกต้อง
4. คุ้มครองผลประโยชน์ของสมาชิกต่อนายจ้าง
5. เป็นตัวแทนของลูกจ้างในการปรึกษาหารือเพื่อปรับปรุงสวัสดิการและสหภาพการจ้าง
6. ดำเนินกิจการตามขั้นตอนของกฎหมาย และไม่ทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
7. เคารพกฎ ระเบียบ ของสถานประกอบกิจการ และข้อตกลง
8. ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้สถานประกิจการมีความเจริญก้าวหน้า
9. แนะนำ ร่วมหารือกับนายจ้าง เพื่อปรับปรุงสถานประกอบกิจการในการเพิ่มผลผลิต
10. สร้างความเชื่อถือต่อลูกค้าของบริษัทในด้านคุณภาพของสิ้นค้าและประสิทธิภาพในการทำงาน
เอกสารประกอบคำขอจดทะเบียนจัดตั้งสหภาพแรงงาน ( กรณีจดทะเบียน ณ สำนักงานทะเบียนประจำจังหวัดให้จัดส่งหลักฐานเพิ่มขึ้นอีก 1 ชุด )
1. ประวัติพร้อมรูปถ่ายของผู้ก่อการจัดตั้งสหภาพแรงงาน จำนวนไม่น้อยกว่า 10 คน
2. ภาพถ่ายสำเนาทะเบียนบ้าน หรือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ริเริ่มก่อการที่ลงลายมือชื่อรับรองสำเนา
3. แผนที่สังเขปแสดงที่ตั้งสำนักงานของสหภาพแรงงาน
4. ตัวอย่างเครื่องหมายสหภาพแรงงาน ซึ่งต้องมีชื่อเต็มของสหภาพแรงงานและมีขนาดที่สามารถอ่านข้อความได้ชัดเจน
5. หนังสือรับรองตนเอง ละรับรองตำแหน่ง อำนาจหน้าที่ของผู้ริเริ่มก่อการ
6. หลักฐานการเป็นลูกจ้าง ( ถ้ามี ) เช่น สำเนาบัตรประจำตัวพนักงาน สำเนาบัตรลงเวลาการทำงาน สำเนาใบรับเงินค่าจ้าง หรือหอหลักฐานอื่นใดที่แสดงถึงการเป็นลูกจ้างของผู้เริ่มก่อการ
7. หนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่เป็นที่ตั้งสหภาพแรงงานซึ่งเจ้าบ้านยินยอมให้ใช้สถานที่
8. แผนที่สังเขปแสดงที่ตั้งสำนักงานของนายจ้าง
9. ร่างข้อบังคับ จำนวน 3 ฉบับ
10. ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ( ถ้ามี )
|