Skip to main content

สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

ข้อมูลเกี่ยวกับคนพิการ

ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของคนพิการ

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และอนุบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการพ.ศ. 2550 และพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ. 2551 คนพิการได้รับสิทธิที่สำคัญอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งครอบคลุมวิถีชีวิตคนพิการ ตั้งแต่ เกิด จนตาย รวมอย่างน้อย 9 ประการ ได้แก่

1. เบี้ยความพิการ – คนพิการทุกคนที่มีสมุด/บัตรประจำตัวคนพิการมีสิทธิลงทะเบียนขอรับ “เบี้ยความพิการ” คนละ 500 บาท/เดือนได้ ซึ่งแต่เดิม เฉพาะคนพิการที่ไม่มีรายได้เท่านั้น จึงจะมี สิทธิได้รับ “เบี้ยยังฃีพ” เดือนละ 500 บาท นอกจากนั้น คนพิการที่สูงอายุ หรืออายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มีสิทธิได้รับทั้ง “เบี้ยความพิการ” และ”เบี้ยผู้สูงอายุ” รวมเดือนละ 1,000 บาท

 

2. บริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์ แต่เดิมคนพิการได้รับบริการทางการ แพทย์เพียง 13 รายการ ในปี 2553 นี้ คนพิการได้รับบริการจำนวนรวมเป็น 2 เท่า คือ รวม 26 รายการ ได้แก่

  • 1) การตรวจวินิจฉัย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการตรวจพิเศษด้วยวิธีอื่นๆ ตามชุด สิทธิประโยชน์
  • 2) การแนะแนว การให้คำปรึกษา และการจัดบริการเป็นรายกรณี
  • 3) การให้ยา ผลิตภัณฑ์ เวชภัณฑ์ และหัตถการพิเศษอื่นๆ เพื่อการบำบัด ฟื้นฟู เช่น การฉีดยาลดเกร็ง การรักษาด้วยไฟฟ้า Hemoencephalography (HEG)เป็นต้น
  • 4) การศัลยกรรม
  • 5) การบริการพยาบาลเฉพาะทาง เช่น พยาบาลจิตเวช เป็นต้น
  • 6) กายภาพบำบัด
  • 7) กิจกรรมบำบัด
  • 8)การแก้ไขการพูด ( อรรถบำบัด)
  • 9) พฤติกรรมบำบัด
  • 10) จิตบำบัด
  • 11) ดนตรีบำบัด
  • 12) พลบำบัด
  • 13 ) ศิลปะบำบัด
  • 14) การฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยิน
  • 15) การพัฒนาทักษะในการสื่อความหมาย
  • 16) การบริการส่งเสริมพัฒนาการหรือบริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม
  • 17) การบริการทางการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เช่น นวดไทย ผังเข็ม เป็นต้น
  • 18) การพัฒนาทักษะทางสังคม สังคมสงเคราะห์ และสังคมบำบัด เช่น กลุ่มสันทนาการ เป็นต้น
  • 19) การประเมิน และเตรียมความพร้อมก่อนการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพหรือการประกอบอาชีพ
  • 20) การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการเห็น การสร้างความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว
  • 21) การบริการข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพผ่านสื่อในรูปแบบที่เหมาะสมกับความพิการ ซึ่งคนพิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้
  • 22) การฝึกอบรมและการพัฒนาทักษะแก่คนพิการ ผู้ดูแลคนพิการ และผู้ช่วยคนพิการ
  • 23)การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยครอบครัวและชุมชน การเยี่ยมบ้าน กิจกรรมการให้บริการเชิงรุก
  • 24) การฝึกทักษะการเรียนรู้ขั้นพื้นฐาน เช่น การฝึกทักษะชีวิต การฝึกทักษะการดำรงชีวิตสำหรับคนพิการ การฝึกทักษะการใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ เป็นต้น
  • 25) การบริการทันตกรรม เช่น การเคลือบหลุมร่องฟัน เป็นต้น และ
  • 26) การให้บริการเกี่ยวกับกายอุปกรณ์เทียม กายอุปกรณ์เสริม เครื่องช่วยความพิการ หรือสื่อส่งเสริมพัฒนาการ

 

3. บริการจัดการศึกษา – คนพิการทุกคนมีสิทธิเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี รวมถึงการศึกษาระดับอาชีวศึกษา ประกาศนียบัตรชั้นสูง และระดับปริญญาตรี

 

4. บริการจ้างงานคนพิการ – ตามระเบียบใหม่ของกระทรวงแรงงาน ซึ่งเตรียมจะประกาศใช้ กำหนดให้สถานประกอบการของเอกชน และหน่วยงานของรัฐต้องรับคนพิการเข้าทำงาน ในอัตราส่วนจำนวนลูกจ้างทั้งหมด คาดว่า น่าจะเป็น 50 คนต่อ คนพิการ 1 คน ทั้งนี้ หากสถานประกอบการไม่รับคนพิการเข้าทำงาน จะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือสนับสนุนการประกอบอาชีพอิสระให้คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ ด้วยการให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมา ช่วงงาน ฝึกงาน หรือให้การช่วยเหลือคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการอย่างสมเหตุสมผล ส่วนหน่วยงานราชการ ที่ไม่รับคนพิการเข้าทำงานไปต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ แต่ต้องสนับสนุนการประกอบอาชีพอิสระให้คนพิการ หรือผู้ดูแลคนพิการในลักษณะเดียวกัน

 

5. บริการสิ่งอำนวยความสะดวก – หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องจัดสิ่งอำนวยความสะดวกตามความเหมาะสม เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากบริการ เช่น บริการในการเดินทาง บริการขนส่งสาธารณะ บริการข้อมูลข่าวสาร และบริการให้สัตว์นำทางเดินทางกับคนพิการ เป็นต้น ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่สถานประกอบการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการสามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้

 

6. บริการเงินกู้ – คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการมีสิทธิขอกู้เงินกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเพื่อการประกอบอาชีพอิสระได้ โดยกู้เป็นรายบุคคล คนละ ไม่เกิน 40,000 บาท หรือกู้เป็นกลุ่ม เพื่อช่วยกันประกอบอาชีพ ไม่มีดอกเบี้ย แต่ต้องผ่อนส่งภายใน 5 ปี

 

7. บริการสวัสดิการสังคม – คนพิการมีสิทธิได้รับสวัสดิการตามความเหมาะสมอย่างสมเหตุสมผล เช่น

  • 1) ผู้ช่วยคนพิการ (สำหรับคนพิการระดับรุนแรง) ซึ่งผ่านการฝึกอบรมตามมาตรฐานของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แล้ว
  • 2) ค่าใช้จ่ายสำหรับจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกที่บ้าน หรือสถานที่พัก และ
  • 3) สถานที่เลี้ยงดูสำหรับคนพิการไร้ที่พึ่ง เป็นต้น

 

8. บริการล่ามภาษามือ – คนหูหนวกมีสิทธิขอบริการล่ามภาษามือได้ 5 กรณี ได้แก่

  • 1) การใช้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข
  • 2) การสมัครงานหรือการติดต่อประสานงานด้านการประกอบอาชีพ
  • 3) การร้องทุกข์ การกล่าวโทษ หรือเป็นพยานในชั้นพนักงานสอบสวนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายอื่น
  • 4)การเข้าร่วมประชุม สัมมนา หรือฝึกอบรม รวมทั้งเป็นผู้บรรยายโดยหน่วยงานภาครัฐ หรือ องค์กรภาคเอกชนเป็นผู้จัดซึ่งมีคนพิการทางการได้ยินเข้าร่วมด้วย และ
  • 5) บริการอื่นใดตามที่คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาล่ามภาษามือประกาศกำหนด

 

9. การลดหย่อนภาษีเงินได้ – ผู้ดูแลคนพิการที่มีรายได้ และต้องเสียภาษีเงินได้ มีสิทธิได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้คนละ 60,000 บาท เริ่มตั้งแต่รายได้ของปี 2552

 

วิธีเตรียมรับบริการคนพิการในปีใหม่ 2553

คนพิการสามารถขอรับบริการทั้ง 9 ประการที่กล่าวในตอนต้น ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

1. วิธีรับเบี้ยความพิการ – มี 2 ขั้นตอนได้แก่

  • 1) จดทะเบียนคนพิการ ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ( พมจ.) หรือหน่วยงานที่ประกาศกำหนดเพื่อรับสมุด/บัตรประจำตัวคนพิการ ( เฉพาะคนพิการที่ยังไม่เคยจดทะเบียนคนพิการ )
  • 2) ลงทะเบียนรับเบี้ยความพิการ ที่องค์การบริหารส่วนตำบล ( อบต.) หรือสำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งคนพิการมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ทั้งนี้ ถ้าลงทะเบียนรับเบี้ยความพิการก่อน วันที่ 30 มกราคม 2553 จะเริ่มได้รับเบี้ยความพิการตั้งแต่เดือนเมษายน 2553 ทุกคน

 

2. วิธีรับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์ – ขั้นแรกต้องแจ้งรับบัตรทอง ท. 74 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน และแสดงบัตรขอรับ บริการรับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ หรือการรักษาพยาบาลอาการเจ็บป่วยได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ณ สถานพยาบาลที่ใดก็ได้

3. วิธีรับบริการจัดการศึกษา – แจ้งรับบริการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือการเข้าเรียนในสถานศึกษาที่ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัด โรงเรียนใกล้บ้าน หรือสถานศึกษา หรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาของจังหวัดต่างๆ หรือหน่วยงานที่ประกาศกำหนด

4. วิธีรับบริการจ้างงานคนพิการ – คนพิการสามารถสมัครทำงานที่สถานประกอบการของเอกชน และหน่วยงานของรัฐที่ประกาศรับคนทั่วไปหรือรับคนพิการเข้าทำงาน รวมทั้งไปแจ้งรับบริการจัดหางานที่ศูนย์จัดหางาน ของกรมจัดหางานกระทรวงแรงงานที่อยู่ใกล้บ้าน หรือแจ้งองค์กรด้านคนพิการที่บริการจัดหางาน ให้คนพิการ เช่น ศูนย์จัดหางานคนพิการพระมหาไถ่ พัทยา และมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย เป็นต้น หรือสมัครงานที่หน่วยงานซึ่งประกาศกำหนด

5. วิธีรับบริการสิ่งอำนวยความสะดวก – เมื่อมีปัญหาหรืออุปสรรคในการดำเนินชีวิตเนื่องจากไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมในการรับบริการต่างๆ ตามสิทธิอย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป เช่น บริการในการเดินทาง บริการขนส่งสาธารณะบริการข้อมูลข่าวสาร และบริการให้สัตว์นำทางเดินทางกับคนพิการ เป็นต้น ให้แจ้งหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่รับผิดชอบ อบต. พมจ. สำนักงานเขต หรือศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพชุมชน กรุงเทพมหานคร สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย และมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย เป็นต้น หรือแจ้งหน่วยงานที่ประกาศกำหนด เพื่อเสนอแนะให้จัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม ที่ ห้องน้ำ ทางลาด ท่จอดรถสำหรับคนพิการ รถเมล์ชานต่ำ เอกสารอักษรเบรลล์ และล่ามภาษามือ เป็นต้น

6. วิธีรับบริการเงินกู้ – แจ้งรับบริการกู้เงินเพื่อประกอบอาชีพที่ พมจ. ศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพชุมชน กรุงเทพมหานคร หรือหน่วยงานที่ประกาศกำหนด ทั้งนี้ จะต้องเตรียมเสนอโครงการและเหตุผลว่า จะนำเงินที่กู้ได้ไปทำอะไร

7. วิธีรับบริการสวัสดิการสังคม – แจ้งรับบริการผู้ช่วยคนพิการ ค่าใช้จ่ายสำหรับจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกที่บ้าน หรือสถานที่พัก หรือสถานที่เลี้ยงดูสำหรับคนพิการไร้ที่พึ่งที่ อบต. พมจ. สำนักงานเขต ศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพชุมชน กรุงเทพมหานคร หรือหน่วยงานที่ประกาศกำหนด

8. วิธีรับบริการล่ามภาษามือ – แจ้งรับบริการล่ามภาษามือที่ สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย อบต. พมจ. สำนักงานเขต ศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพชุมชน กรุงเทพมหานคร หรือหน่วยงานที่ประกาศกำหนด

9. วิธีรับบริการการลดหย่อนภาษีเงินได้ – แจ้งหน่วยงานของกรมสรรพากรที่ไปเสียภาษีเงินได้ หรือหน่วยงานที่ประกาศกำหนด

โดยที่ ปี พ.ศ. 2553 ยังเป็นเพียง “ปีทองฝังเพชรเม็ดเล็กๆ” จะต้องใช้เวลา เพื่อพัฒนาไปสู่ “ปีทองฝังเพชรเม็ดใหญ่” ฉะนั้น การให้บริการหลายอย่างอาจอยู่ในระหว่างรออนุบัญญัติประกาศบังคับใช้ เตรียมแผนงานให้บริการ เตรียมจัดหน่วยงาน บุคลากร หรืองบประมาณ หรือเพิ่งเริ่มให้บริการ จึงยังอาจมีความไม่พร้อม ไม่สะดวก หรือมีประสิทธิภาพ และคุณภาพไม่เท่าที่ควร ฉะนั้น คนพิการ ผู้ดูแลคนพิการ และผู้เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจในประเด็นเหล่านี้ และติดตามความคืบหน้าอยู่เสมอ

อย่างไรก็ตาม หากคนพิการไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกเลือกปฏิบัติ หรือมีปัญหาในการดำรงชีวิตเป็นอย่างยิ่ง ควรแจ้งอุปสรรคและปัญหาต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงร้องเรียนต่อสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำจังหวัด หรือ พมจ. แจ้ง อบต. หรือแจ้งกลุ่ม ชมรม สมาคม หรือสภาคนพิการประจำจังหวัด สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย อนุกรรมาธิการด้านคนพิการ วุฒิ และมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย เป็นต้น เพื่อดำเนินการตามกฎหมายให้คนพิการได้รับบริการตามสิทธิ

 

ข้อมูลการจดทะเบียนคนพิการ

คนพิการที่ประสงค์จะจดทะเบียนคนพิการ เพื่อนำ ” สมุดประจำตัวคนพิการ ” ไปขอรับสิทธิประโยชน์
ต่างๆ ตาม พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 ต้องดำเนินการ ดังนี้

สถานที่จดทะเบียน – คนพิการต้องไปจดทะเบียนคนพิการที่สถานที่ต่อไปนี้

  • สำนักงานคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ กรมประชาสงเคราะห์ ถนนกรุงเกษม เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 628 2518 – 9
  • สำนักงานประชาสงเคราะห์จังหวัดที่ศาลากลางจังหวัด ซึ่งเป็นภูมิลำเนา หรือจังหวัดที่คนพิการ
    อาศัยอยู่

 

เอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียน

เอกสารที่คนพิการต้องนำไปยื่นที่สถานที่จดทะเบียน ได้แก่

– เอกสารรับรองความพิการ

– ขอได้จากสถานพยาบาลของรัฐ เช่น สถานีอนามัย โรงพยาบาลประจำอำเภอ โรงพยาบาลประจำจังหวัด และโรงพยาบาลจิตเวช เป็นต้น

– ต้นฉบับ และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวข้าราชการ หรือบัตรประจำตัวต่างด้าว หรือเอกสารอื่นที่ราชการออกให้ ในกรณีเป็นเด็กที่ยังไม่มีบัตรประจำตัว ให้ใช้ใบสูติบัตรแทน

– ต้นฉบับ และสำเนาทะเบียนบ้าน 1 ใบ

– รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว จำนวน 2 รูป

– การจดทะเบียนแทน – ถ้าคนพิการไม่สามารถไปจดทะเบียนด้วยตนเอง ให้มอบผู้อื่นไปจดทะเบียนแทน โดยผู้จดทะเบียนแทน ต้องนำเอกสารสำหรับต่อไปนี้ไปสถานที่จดทะเบียน

– เอกสารสำหรับจดทะเบียนของคนพิการในข้อ 2 ทั้งหมด

 

เอกสารของผู้จดทะเบียนแทน ได้แก่

– ต้นฉบับ และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวข้าราชการ หรือบัตรประจำตัวต่างด้าว หรือเอกสารอื่นที่ราชการออกให้

– ต้นฉบับ และสำเนาทะเบียนบ้าน 1 ใบ

– ใบมอบอำนาจจากคนพิการ หรือหนังสือรับรองจากทางราชการ ซึ่งขอได้จากผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และนายอำเภอ เป็นต้น

– คำสั่งศาลในกรณีที่ศาลสั่งให้คนพิการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือไร้ความสามารถ

คำสั่งศาลเรื่องการจัดตั้งผู้ปกครองคนพิการ ในกรณีที่คนพิการไม่มีบิดามารดา หรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครองคนพิการ

– สมุดประจำตัวคนพิการ

– คนพิการที่จดทะเบียนแล้ว จะได้รับสมุดประจำตัวคนพิการ ซึ่งต้องนำไปแสดงเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ อนึ่ง สมุดประจำตัวคนพิการมีอายุ 5 ปี เมื่อหมดกำหนดต้องไปจดทะเบียนใหม่ ถ้าสมุดประจำตัวคนพิการสูญหาย ให้แจ้งความที่สถานีตำรวจ และนำใบแจ้งความไปขอยื่นจดทะเบียนใหม่

3766
TOP