1. วิธีรับเบี้ยความพิการ – มี 2 ขั้นตอนได้แก่
1) จดทะเบียนคนพิการ ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ( พมจ.) หรือหน่วยงานที่ประกาศกำหนดเพื่อรับสมุด/บัตรประจำตัวคนพิการ ( เฉพาะคนพิการที่ยังไม่เคยจดทะเบียนคนพิการ )
2) ลงทะเบียนรับเบี้ยความพิการ ที่องค์การบริหารส่วนตำบล ( อบต.) หรือสำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งคนพิการมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ทั้งนี้ ถ้าลงทะเบียนรับเบี้ยความพิการก่อน วันที่ 30 มกราคม 2553 จะเริ่มได้รับเบี้ยความพิการตั้งแต่เดือนเมษายน 2553 ทุกคน
2. วิธีรับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์ – ขั้นแรกต้องแจ้งรับบัตรทอง ท. 74 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน และแสดงบัตรขอรับ บริการรับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ หรือการรักษาพยาบาลอาการเจ็บป่วยได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ณ สถานพยาบาลที่ใดก็ได้
3. วิธีรับบริการจัดการศึกษา – แจ้งรับบริการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือการเข้าเรียนในสถานศึกษาที่ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัด โรงเรียนใกล้บ้าน หรือสถานศึกษา หรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาของจังหวัดต่างๆ หรือหน่วยงานที่ประกาศกำหนด
4. วิธีรับบริการจ้างงานคนพิการ – คนพิการสามารถสมัครทำงานที่สถานประกอบการของเอกชน และหน่วยงานของรัฐที่ประกาศรับคนทั่วไปหรือรับคนพิการเข้าทำงาน รวมทั้งไปแจ้งรับบริการจัดหางานที่ศูนย์จัดหางาน ของกรมจัดหางานกระทรวงแรงงานที่อยู่ใกล้บ้าน หรือแจ้งองค์กรด้านคนพิการที่บริการจัดหางาน ให้คนพิการ เช่น ศูนย์จัดหางานคนพิการพระมหาไถ่ พัทยา และมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย เป็นต้น หรือสมัครงานที่หน่วยงานซึ่งประกาศกำหนด
5. วิธีรับบริการสิ่งอำนวยความสะดวก – เมื่อมีปัญหาหรืออุปสรรคในการดำเนินชีวิตเนื่องจากไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมในการรับบริการต่างๆ ตามสิทธิอย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป เช่น บริการในการเดินทาง บริการขนส่งสาธารณะบริการข้อมูลข่าวสาร และบริการให้สัตว์นำทางเดินทางกับคนพิการ เป็นต้น ให้แจ้งหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่รับผิดชอบ อบต. พมจ. สำนักงานเขต หรือศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพชุมชน กรุงเทพมหานคร สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย และมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย เป็นต้น หรือแจ้งหน่วยงานที่ประกาศกำหนด เพื่อเสนอแนะให้จัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม ที่ ห้องน้ำ ทางลาด ท่จอดรถสำหรับคนพิการ รถเมล์ชานต่ำ เอกสารอักษรเบรลล์ และล่ามภาษามือ เป็นต้น
6. วิธีรับบริการเงินกู้ – แจ้งรับบริการกู้เงินเพื่อประกอบอาชีพที่ พมจ. ศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพชุมชน กรุงเทพมหานคร หรือหน่วยงานที่ประกาศกำหนด ทั้งนี้ จะต้องเตรียมเสนอโครงการและเหตุผลว่า จะนำเงินที่กู้ได้ไปทำอะไร
7. วิธีรับบริการสวัสดิการสังคม – แจ้งรับบริการผู้ช่วยคนพิการ ค่าใช้จ่ายสำหรับจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกที่บ้าน หรือสถานที่พัก หรือสถานที่เลี้ยงดูสำหรับคนพิการไร้ที่พึ่งที่ อบต. พมจ. สำนักงานเขต ศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพชุมชน กรุงเทพมหานคร หรือหน่วยงานที่ประกาศกำหนด
8. วิธีรับบริการล่ามภาษามือ – แจ้งรับบริการล่ามภาษามือที่ สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย อบต. พมจ. สำนักงานเขต ศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพชุมชน กรุงเทพมหานคร หรือหน่วยงานที่ประกาศกำหนด
9. วิธีรับบริการการลดหย่อนภาษีเงินได้ – แจ้งหน่วยงานของกรมสรรพากรที่ไปเสียภาษีเงินได้ หรือหน่วยงานที่ประกาศกำหนด
โดยที่ ปี พ.ศ. 2553 ยังเป็นเพียง “ปีทองฝังเพชรเม็ดเล็กๆ” จะต้องใช้เวลา เพื่อพัฒนาไปสู่ “ปีทองฝังเพชรเม็ดใหญ่” ฉะนั้น การให้บริการหลายอย่างอาจอยู่ในระหว่างรออนุบัญญัติประกาศบังคับใช้ เตรียมแผนงานให้บริการ เตรียมจัดหน่วยงาน บุคลากร หรืองบประมาณ หรือเพิ่งเริ่มให้บริการ จึงยังอาจมีความไม่พร้อม ไม่สะดวก หรือมีประสิทธิภาพ และคุณภาพไม่เท่าที่ควร ฉะนั้น คนพิการ ผู้ดูแลคนพิการ และผู้เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจในประเด็นเหล่านี้ และติดตามความคืบหน้าอยู่เสมอ
อย่างไรก็ตาม หากคนพิการไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกเลือกปฏิบัติ หรือมีปัญหาในการดำรงชีวิตเป็น
อย่างยิ่ง ควรแจ้งอุปสรรคและปัญหาต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงร้องเรียนต่อสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำจังหวัด หรือ พมจ. แจ้ง อบต. หรือแจ้งกลุ่ม ชมรม สมาคม หรือสภาคนพิการประจำจังหวัด สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย อนุกรรมาธิการด้านคนพิการ วุฒิ และมูลนิธิพัฒนา
คนพิการไทย เป็นต้น เพื่อดำเนินการตามกฎหมายให้คนพิการได้รับบริการตามสิทธิ